คัมภีร์การเขียนเรซูเม่ฉบับสมบูรณ์
ในสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันที่นับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ตำแหน่งงานในบริษัทดี ๆ ก็ต้องการคนคุณภาพเข้าร่วมงาน ด่านแรกที่ผู้สมัครทุกคนต้องเจอคือการเขียนเรซูเม่ที่จะชนะใจผู้อ่านได้ในเวลาสั้น ๆ จนนำไปสู่การสัมภาษณ์ในขั้นต่อไป แต่การเขียนเรซูเม่ (Resume) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ CV (Curriculum Vitae) ที่ดีนั้นต้องการองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความชัดเจน ความกระชับของสิ่งที่นำมาเขียน การจัดวางองค์ประกอบ ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อสร้างโปรไฟล์ของคุณขึ้นมาให้คนที่คุณไม่มีโอกาสได้พบปะพูดคุยด้วย ได้รู้จักคุณในภาพรวมมากขึ้น รวมถึงมีโอกาสบอกเล่าประสบการณ์และความสำเร็จทั้งในรั้วมหาวิทยาลัย หรือในหน้าที่การงานที่เคยทำก่อนคิดสมัครงานตำแหน่งใหม่อีกด้วย
เรซูเม่คืออะไร สำคัญขนาดไหน?
เรซูเม่คือเอกสารที่สรุปประวัติส่วนตัวและการทำงานส่วนบุคคล เปรียบเสมือนเป็นด่านแรกในการตัดสินใจคัดเลือกพนักงาน โดยจะเน้นความกระชับได้ใจความและครบถ้วน เพื่อใช้ในการสมัครงานหรือตำแหน่งที่เราต้องการ ส่วนมากเรซูเม่จะมีความยาวเพียงหนึ่งหน้ากระดาษเท่านั้นหากประสบการณ์ทำงานไม่ได้มีมากเกิน 10 ปี ในเรซูเม่จะเขียนถึงประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติการทำการ จุดมุ่งหมายในการทำงาน รวมไปถึงความรู้ความสามารถที่มีประโยชน์ต่อตำแหน่งที่สมัครไป เพื่อที่จะทำให้ฝ่ายบุคคลหรือ HR (Human Resources) สามารถทำความรู้จักกับผู้สมัครได้ในระยะเวลาที่สั้น
ส่วนความสำคัญของเรซูเม่นั้นก็มีมากขนาดที่ว่าถ้าเขียนเรซูเม่ไม่ดี โอกาสสัมภาษณ์งานของคุณก็เกือบจะเท่ากับ 0 เพราะในปัจจุบันคนที่แข่งขันกันมีแนวโน้มสูงขึ้นมากไม่ว่าจะเป็นจากผู้ที่เพิ่งจบใหม่ หรือผู้มีประสบการณ์ที่มองหาความก้าวหน้า นอกจากนี้รูปร่างหน้าตาและความทันสมัยของเรซูเม่คุณก็มีส่วนที่ทำให้ฝ่ายสรรหาบุคคลเลือกคุณมาเป็นพนักงานอีกด้วย
3 รูปแบบหลักของเรซูเม่
ในปัจจุบันเราแบ่งเรซูเม่เป็น 3 รูปแบบหลัก ๆ ดังนี้
1. Chronological Resume – แบบเน้นประสบการณ์ในการทำงาน นิยมมากที่สุดและพบได้ทั่วไป การเขียนเรซูเม่ประเภทนี้คือการนำเหตุการณ์ล่าสุดขึ้นก่อน เช่น จบจากที่ไหนมา ทำงานตำแหน่งล่าสุดที่ไหน จากนั้นย้อนอดีตลงไปเรื่อย ๆ
2. Functional Resume (Skill-based Resume) – แบบเน้นทักษะ และความสามารถ โดยจะเหมาะกับตัวงานที่ไม่เน้นประสบการณ์ แต่เน้นความสามารถเฉพาะทางเป็นหลัก หรือสำหรับผู้สมัครที่ว่างงานนานและบ่อยจนไม่สามารถเขียน Chronological resume ได้สวย
3. Combination Resume– แบบผสมผสาน ใช้เมื่อคุณมีทั้งความสามารถและประสบการณ์ควบคู่กัน เหมาะสำหรับผู้บริหาร
องค์ประกอบของเรซูเม่
ไม่ว่าคุณจะเลือกเขียนเรซูเม่รูปแบบไหน สิ่งที่ควรจะมีอยู่ในการเขียนเรซูเม่ของคุณก็จะมีหัวข้อหลัก ๆ ดังนี้
ประวัติส่วนตัว (Personal Information):
-
• ชื่อ – นามสกุล
-
• ตำแหน่งล่าสุด หากทำงานแล้ว
-
• น้ำหนัก ส่วนสูง (บางตำแหน่งอาจต้องการให้คุณระบุแต่ตามปกติไม่ต้องระบุ)
-
• ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ และอีเมลที่อ่านแล้วเป็นทางการ
-
• รูปถ่ายหน้าตรงแบบสุภาพ ไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องแบบ เพียงแต่งกายสุภาพ
ประวัติการศึกษา (Education):
-
• ระดับการศึกษาปริญญาเอก (หากได้รับเกียรตินิยมสามารถระบุได้)
-
• ระดับการศึกษาปริญญาโท (หากได้รับเกียรตินิยมสามารถระบุได้)
-
• ระดับการศึกษาปริญญาตรี (หากได้รับเกียรตินิยมสามารถระบุได้)
-
•ทุนการศึกษาหรือทุนวิจัยในระดับอุดมศึกษา (หากได้รับสามารถระบุได้)
-
• ระดับมัธยมศึกษา (สามารถระบุเกรดเฉลี่ยได้)
* หมายเหตุ ควรเรียงลำดับจากการศึกษาระดับสูงที่สุดก่อน และสำหรับระดับมัธยมศึกษาจะระบุหรือไม่ก็ได้
จุดมุ่งหมายในการทำงาน (Career Objective)
เป็นย่อหน้าสั้น ๆ ที่ให้คุณกล่าวถึงความสนใจในตำแหน่งงานที่สมัคร เป้าหมายของตัวคุณเอง และทำไมคุณถึงเหมาะกับบริษัทและตำแหน่งนั้น ๆ ในส่วนนี้จะมีผลต่อการพิจารณาหากเขียนได้ดีเพราะเป็นเพียงพื้นที่เดียวที่คุณสามารถพิมพ์เกี่ยวกับตัวคุณได้นอกจากการที่คุณเคยทำอะไรมาบ้างสั้น ๆ เราจึงอยากให้ใช้หัวข้อนี้ให้เป็นประโยชน์
ประสบการณ์การทำงาน (Work Experience)
-
• ระยะเวลา ตำแหน่งและบริษัทที่ได้ร่วมงาน
-
• ระยะเวลา ตำแหน่งและบริษัทที่เคยฝึกงาน
-
•ระยะเวลา รายละเอียดที่เคยทำมา (สั้น กระชับ และได้ใจความ)
-
• ระยะเวลา รางวัลที่เคยได้รับ
-
• ระยะเวลา กิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยเข้าร่วม (เช่น จิตอาสา งานออกค่าย หรือโครงการ)
ความสามารถพิเศษและทักษะ (Skills)
-
• ทักษะการใช้ภาษา สามารถระบุมีทักษะการใช้ภาษากี่ภาษา และควรจะระบุระดับความสามารถ เช่น ดีเยี่ยม ดี ปานกลาง หรือพอใช้ หากมีผลการทดสอบยืนยันให้ระบุคะแนนสอบด้วย เช่น ภาษาอังกฤษดีเยี่ยม มีผลสอบ IELTS 8.0 หรือ TOEIC 990
-
• ความสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เช่น Adobe Creative Suite, Microsoft Excel ฯลฯ
-
• การขับรถ ระบุเมื่อจำเป็นต่อตำแหน่งงานเท่านั้น เช่น งานขาย งานขับรถ เป็นต้น
-
• ทักษะอื่น ๆ หรือความสามารถอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับงานที่สมัคร
-
• สมัครงานด้านโปรแกรมเมอร์ : หากผู้สมัครมีทักษะด้านการเขียนภาษา Java, .Net, หรือ Php สามารถระบุลงไปอย่างชัดเจนว่าเคยทำเครื่องมืออะไรบ้างหรือใช้เฟรมเวิร์ค (Framework) อะไรเป็น
-
• สมัครงานคลังสินค้า : ผู้สมัครสามารถระบุว่าสามารถขับรถฟอร์คลิฟท์ (Forklift) ได้ และมีใบขับขี่
รางวัลในความสำเร็จต่าง ๆ (Honors / Awards)
-
• ชนะในการประกวดหรือโครงการต่าง ๆ
-
• เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานที่จะสมัครต่าง ๆ
ควรจะระบุชื่อบุคคลที่สามที่สามารถรับรองหรือให้ข้อมูลกับบริษัทที่สมัครไป (Referrals)
-
• ชื่อ - นามสกุล และช่องทางการติดต่อต่าง ๆ ของบุคคลที่สามอย่างชัดเจน
-
• ให้เลือกตำแหน่งที่ใหญ่ที่สุดที่ทำงานกับคุณ เช่น หัวหน้าโดยตรง หรือหัวหน้าคุณ 2-3 ขั้นที่คุณมีโอกาสทำงานด้วยบ่อย ๆ โดยคน ๆ นี้ต้องรู้จักคุณพอสมควร เพราะ HR มักจะโทรศัพท์ไปสอบถามผลงานของคุณโดยตรง
-
• สำหรับนักศึกษาที่จบใหม่ให้เลือกอ้างอิงอาจารย์ที่สนิทและรู้นิสัยหรือผลการเรียนเป็นอย่างดี หากเคยฝึกงานก็สามารถอ้างอิงถึงผู้บังคับบัญชาในอดีตได้
-
• ไม่ควรอ้างอิงถึงเพื่อน คนในครอบครัว ญาติ หรือคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงที่ไม่ได้ทำงานด้วยกันมาก่อน
การจัดวางตำแหน่งและดีไซน์ของเรซูเม่
การเขียนเรซูเม่ที่ดีนั้นไม่ว่าคุณจะใช้ดีไซน์ไหน สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือคุณเลือกที่จะใส่อะไรลงไปเพื่อให้บริษัทสนใจ และอ่านข้อมูลของคุณได้อย่างรวดเร็วที่สุด จากการศึกษาพบว่าผู้ที่คัดกรองเรซูเม่นั้นจะใช้เวลาเพียงไม่ถึง 6 วินาทีเพื่อตัดสินใจว่าจะเลือกเก็บเรซูเม่ของคุณไว้หรือโยนทิ้งไป ดังนั้นนอกจากเนื้อหาที่กระชับ คุณจึงควรพิจารณาตำแหน่งการจัดวางให้อ่านง่ายด้วย
การวางสัดส่วนเบื้องต้นที่เป็นที่นิยม ถ้าเราจะวัดกันให้ละเอียดสักหน่อยจะมี % ดังนี้
เด็กจบใหม่
-
• ข้อมูลส่วนตัว: พื้นที่ 10% (ประกอบด้วย ชื่อ-นามสกุล เบอร์ติดต่อ อีเมล และรูปถ่าย)
-
• การศึกษา: พื้นที่ 30% (เรียงจากลำดับสูงสุด)
-
• ประสบการณ์ฝึกงาน: พื้นที่ 30% (เรียงจากประสบการณ์ล่าสุด)
-
• สำหรับนักศึกษาที่จบใหม่ให้เลือกอ้างอิงอาจารย์ที่สนิทและรู้นิสัยหรือผลการเรียนเป็นอย่างดี หากเคยฝึกงานก็สามารถอ้างอิงถึงผู้บังคับบัญชาในอดีตได้
ผู้สมัครงานที่มีประสบการณ์การทำงาน
-
• ข้อมูลส่วนตัว: พื้นที่ 10% (ประกอบด้วย ชื่อ-นามสกุล เบอร์ติดต่อ อีเมล และรูปถ่าย)
-
• การศึกษา : พื้นที่ 10% (เรียงจากลำดับสูงสุด)
-
• ประสบการณ์ในการทำงานและจุดมุ่งหมาย: พื้นที่ 60% (เรียงจากประสบการณ์การทำงานล่าสุด)
-
• ความสามารถ สกิลต่าง ๆ และรางวัลความสำเร็จ: พื้นที่ 20% (เช่นประกอบด้วย ความสามารถด้านภาษาหรือสกิลการใช้คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงรางวัลที่เคยได้รับ)
ตัวอย่างเรซูเม่แบบต่าง ๆ
เทคนิคในการเขียนเรซูเม่ให้โดนใจผู้อ่าน
-
• ใส่แต่เนื้อ ไม่ต้องมีน้ำ: พึงระลึกไว้เสมอว่า HR คนที่คัดเลือกคุณมีเวลาให้คุณ 6 วินาที การเกริ่นเยิ่นเย้อมักไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี หากประสบการณ์ทำงานไม่ถึง 10 ปี หรือประสบความสำเร็จมาก โดยมากเรซูเม่เพียง 1 หน้ากระดาษก็เพียงพอแล้ว
-
• ทุกรายละเอียด จับต้องและตีค่าได้: ในทุกตำแหน่งงานที่สมัคร หรือแม้แต่ความสำเร็จสำหรับนักศึกษาจบใหม่ คุณควรใส่เฉพาะหน้าที่และความสำเร็จที่จับต้องได้ มีผลลัพธ์และการกระทำของคุณ เช่น หากคุณเป็น Sales คุณก็สามารถระบุได้ว่ายอดขายบริษัทเพิ่มขึ้น 15% เพราะคุณเปลี่ยนกลยุทธ์การขายเป็นแบบออนไลน์ผ่าน Facebook ในปีที่ผ่านมา หรือหากคุณเป็นนักศึกษา คุณอาจยกตัวอย่างความสำเร็จจากโปรเจคที่ได้ทำร่วมกับเพื่อนร่วมทีม หากคุณไม่ได้ทำคนเดียวก็อาจเน้นในด้านทักษะการประสานงาน แสดงความเป็นผู้นำในการพาทีมสู่ความสำเร็จด้วยวิธีการเฉพาะเจาะจงที่คุณทำก็ได้เช่นกัน
-
• ทำการบ้านเสียหน่อย: ว่าตำแหน่งงานของคุณเป็นตำแหน่งอะไร มีศัพท์เฉพาะในวงการหรือไม่ บริษัทที่คุณสมัครเป็นบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ในด้านไหน ต้องการมองหาคนแบบใด แล้วทำไมคุณถึงควรจะเป็นคนที่ถูกจ้างที่สุดด้วยประสบการณ์และทักษะที่คุณมี พยายาม personalize เรซูเม่ของคุณให้เข้ากับตำแหน่งและบริษัทก็จะเพิ่มโอกาสในการพิจารณาได้ดี
-
• ถ้าเขียนภาษาอังกฤษ ให้ผู้รู้ช่วยดู: หลายครั้งการเขียนเรซูเม่ยื่นบริษัทดังมักจะใช้ภาษาอังกฤษ แต่ผู้สมัครมักจะมองข้ามความถูกต้องของภาษาทำให้พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย ถ้าคุณคิดจะเขียนเรซูเม่ภาษาอังกฤษ คุณควรหาผู้รู้จริงหรือเจ้าของภาษาช่วยตรวจทานให้สักรอบก่อนยื่น เพราะหากผู้ที่มาอ่านเก่งภาษาแล้วก็จะรู้ทันทีว่าสกิลคุณอยู่ระดับไหน เรซูเม่ที่ดีนั้นจะสร้างความประทับใจได้ตั้งแต่ภาษาที่เลือกใช้
-
• รู้จักปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง: ผู้สมัครหลาย ๆ คนมักคิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไรดี หรือที่ผ่านมาทำงานเยอะไปหมดแต่ไม่รู้จะเอาอะไรมาเขียนในเรซูเม่ให้ดูว้าว สมมุติว่าคุณเป็นเด็กจบใหม่ไม่มีประสบการณ์เลย คุณก็ควรต้องเชื่อมสิ่งที่ตัวเองเคยทำเข้ากับตำแหน่งงานที่จะสมัคร โดยเน้นว่าทักษะต่าง ๆ นั้นได้รับการฝึกฝนมาตั้งแต่ยังเรียนแล้ว และสามารถนำไปใช้ต่อยอดกับงานบริษัทได้อย่างไร
หากสมมุติว่าคุณเป็นพนักงานบริษัทที่ทำด้านการประสานงานแต่คุณทำได้ไม่ดีเลยไม่รู้จะเขียนอย่างไร ถ้าคุณไปสมัครงานตำแหน่งอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงานเดิมดูบ้าง คุณอาจจะเลี่ยงประเด็นนี้ไปโดยบอกว่าคุณประสบความสำเร็จมากกับการคิดโปรเจคด้วยไอเดียและเครื่องมือใหม่ ๆ ซึ่งสร้างรายได้ให้บริษัทมากกว่าการประสานงานของคุณ คุณเลยตัดสินใจย้ายสายงานมาสมัครตำแหน่งใหม่แทน ในส่วนของวิธีคิดนี้ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ประสบการณ์ของผู้สมัครเองว่าจะเบี่ยงไปทางไหนให้ชูจุดเด่นของคุณได้ดีที่สุด
ถ้าแค่คิดก็ปวดหัวแล้วว่าจะสร้างอย่างไร เพียงคลิก Register และกรอกข้อมูลของคุณในระบบตามขั้นตอนง่าย ๆ เพียงเท่านี้คุณก็จะได้เรซูเม่ถึง 3 แบบในมือ สมัครงานได้ตั้งแต่บริษัทข้ามชาติจนถึงหน่วยงานราชการ ดาวน์โหลดเป็น PDF เก็บไปยื่นเองก็ได้ หรือจะเริ่มสมัครงานออนไลน์กับบริษัทกว่า 3,000 แห่งผ่าน Jobgate ก็เริ่มได้ทันที
รู้แบบนี้แล้วก็อย่ารอช้า รีบไปฝากเรซูเม่ที่คุณสร้างขึ้นบน Jobgate แล้วเริ่มเปิดประตูสู่ตำแหน่งงานในฝันกันได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งในระดับต้นจนถึงระดับบริหาร ทำงานที่ไหนเราก็มีตำแหน่งงานมากมายที่รอผู้สมัครคุณภาพอย่างคุณที่www.myjobgate.com